กวางผา
Naemorhedus griseus
 
ลักษณะ : กวางผาเป็นสัตว์จำพวกแพะแกะเช่นเดียวกับเลียงผา แต่มีขนาดเล็กกว่า เมื่อโตเต็มที่มีความสูงที่ไหล่มากกว่า 50 เซนติเมตร เพียงเล็กน้อย และมีน้ำหนักตัวประมาณ 30 กิโลกรัม ขนบนลำตัวสีน้ตาลหรือสีน้ำตาลปนเทา มีแนวสีดำตามสันหลงไปจนจดหาง ด้านใต้ท้องสีจางกว่าด้านหลัง หางสั้นสีดำ เขาสีดำมีลักษณะเป็นวงแหวนรอบโคนเขา และปลายเรียวโค้งไปทางด้านหลัง

อุปนิสัย : ออกหากินตามที่โล่งในตอนเย็นและตอนเช้ามืด หลับพักนอนตามพุ่มไม้และชะง่อนหินในเวลากลางคืน อาหารได้แก่พืชที่ขึ้นตามสันเขาและหน้าผาหิน เช่น หญ้า ใบไม้ กิ่งไม้ และลูกไม้เปลือกแข็งจำพวกลูกก่อ กวางผาอยู่รวมกันเป็นฝูงๆละ 4-12 ตัว ผสมพันธุ์ในราวเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม ออกลูกครอกละ 1-2 ตัว ตั้งท้องนาน 6 เดือน

ที่อาศัย : กวางผาจะอยู่บนยอดเขาสูงชันในที่ระดับน้ำสูงชันมากกว่า 1,000 เมตร

เขตแพร่กระจาย : กวางผามีเขตแพร่กระจายตั้งแต่แคว้นแพร่กระจายตั้งแต่แคว้นแคชเมียร์ลงมาจนถึงแคว้นอัสสัม จีนตอนใต้ พม่าและตอนเหนือของประเทศไทย ในประเทศไทยมีรายงานพบกวางผาตามภูเขาที่สูงชันในหลายบริเวณ เช่น ดอยม่อนจอง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ดอยเลี่ยม ดอยมือกาโด จังหวัดเชียงใหม่ และบริเวณสองฝั่งลำน้ำปิงในอุทยานแห่งชาติแม่ปิง จังหวัดตาก

สถานภาพ : กวางผาจัดเป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดหนึ่งใน 15 ชนิดของประเทศไทยและอนุสัญญา CITES จัดไว้ใน Appendix I

สาเหตุของการใกล้จะสูญพันธุ์ : เนื่องจากการบุกรุกถางป่าที่ทำไร่เลื่อนลอยของชาวเขาในระยะเริ่มแรกและชาวบ้านในระยะหลัง ทำให้ที่อาศัยของกวางผาลดน้อยลง เหลืออยู่เพียงตามยอดเขาที่สูงชัน ประกอบกับการล่ากวางผาเพื่อเอาน้ำมันมาใช้ในการสมานกระดูกที่หักเช่นเดียวกับเลียงผา จำนวนกวางผาในธรรมชาติจึงลดลงเหลืออยู่น้อยมาก